สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม

สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตารามเป็นสำนักเรียนที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและแผนกบาลี มีประวัติการกำเนิดพัฒนาการโครงสร้างการบริหารวิวัฒนาการด้านบุคลากรทางการบริหารและการปฏิบัติงานการรับนักเรียน การปกครองการจัดการเรียนการสอนอาคารเรียนจำนวนนักเรียนและผลการสอบดังได้นำเสนอดังต่อไปนี้

กำเนิดสำนักศาสนศึกษา

พระเทพเมธากร (ขณะเป็นพระราชมุนี) และพระเทพปัญญามุนี (ขณะเป็นพระครูคุณสารสาทร) เห็นความลำบากของพระภิกษุสามเณรวัดอาวุธวิกสิตารามที่จะต้องเดินทางไปเรียนในสำนักเรียนอื่นๆ ใกล้บ้างไกลบ้างจึงมีแนวความคิดที่จะตั้งสำนักศาสนศึกษาขึ้น เพื่อเปิดเป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและแผนกบาลีทั้งแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัดอาวุธวิกสิตารามและวัดใกล้เคียง จากแนวความคิดดังกล่าวได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เมื่อ พ.ศ. 2530 ในระยะแรกมีคณะครูและผู้ปฏิบัติงานแผนกต่างๆ 4 รูป ทุกรูปช่วยกันรับผิดชอบปฏิบัติงานและการสอนนักเรียนทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีในด้านนักเรียนก็มีจำนวน 4 รูป เช่นเดียวกัน ผลการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกปรากฏว่านักเรียนสอบได้ทั้งหมด จึงทำให้ทั้งฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติงานมีกำลังใจในการพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น จึงได้เปิดรับพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาและมีผู้สอบได้มากขึ้นเป็นลำดับ

 

พัฒนาการ จาก สำนักศาสนศึกษาเป็น สำนักเรียน

การบริหารศึกษาที่มีประสิทธิผลมากขึ้นทุกปี พ.ศ. 2534 มหาเถรสมาคมจึงมีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 36/2534 อนุมัติให้ยกฐานะสำนักศาสนศึกษาวัดอาวุธวิกสิตารามเป็น “สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 ยังความปลาบปลื้มปีติแก่ผู้บริหารและบุคลากรทุกรูป

โครงสร้างการบริหาร

วัดอาวุธวิกสิตาราม ได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา จนกระทั่ง เปิดสำนักศาสนศึกษาในปีการศึกษา 2530 มีความเป็นรูปเป็นร่างมาโดยลำดับ แต่ในระยะแรกมีเจ้าสำนักศาสนศึกษาคือพระเทพเมธากร รองเจ้าอาวาสคือพระครูคุณสารสาทร และเลขานุการวัดคือพระครูปลัดสัมพันธ์ สิริเตโช ร่วมกันดูแลในฝ่ายบริหาร ส่วนการเรียนการสอนนั้น ได้เปิดทำการสอนแผนกบาลีขึ้นเป็นปีแรก โดยมีสามเณรนิวัฒน์ ภูหวล ป.ธ.7 เป็นครูสอน มีนักเรียนจำนวน 4 รูป สามเณรตระกูล ชำนาญ ป.ธ.7 สอนนักธรรมชั้นโท ชั้นนวกะภูมิ-นักธรรมชั้นตรี ได้มีพระเถระในวัดช่วยทำการสอน ชั้นอื่นๆ ยังไม่มีการสอนภายในวัด ได้อนุญาตให้ไปเรียนยังสำนักอื่นต่อไป
ต่อมา เมื่อมีนักเรียนมากขึ้นและจากการที่มีนักเรียนสอบได้มากทุกปี จึงได้มีการแต่งตั้งครูเพิ่มขึ้นและเปิดสอนชั้นอื่นๆ ตามที่มีนักเรียน การเรียนการสอนเริ่มมีความเป็นรูปเป็นร่างเป็นรูปธรรมและมีรูปแบบมาตรฐานแห่งการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เมื่อมีจำนวนบุคลากรทั้งคณะครูและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น และจากการที่พระเทพปัญญามุนี (ขณะเป็น พระครูคุณสารสาทร) ได้เป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการศึกษา จัดหาทุนทรัพย์และบุคลากรในการดำเนินการ พระเทพเมธากรซึ่งเป็นเจ้าสำนักจึงได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา

พระเทพปัญญามุนีในฐานะเป็นผู้อำนวยการศึกษาพิจารณาเห็นว่าควรจะมีการจัดทำโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนขึ้นจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะบุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นฝ่ายต่างๆ พร้อมทั้งคณะครูสอนพระปริยัติธรรมในขณะนั้น เพื่อจัดทำโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนเพื่อแสดงตำแหน่งต่างๆ พร้อมสายการบังคับบัญชาและร่วมกันร่างระเบียบข้อบังคับสำนักเรียนขึ้นเพื่อให้การบริหารการศึกษามระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนแบ่งลำดับการปฏิบัติงานมีความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานของสำนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การจัดทำโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนครั้งนั้น มีบุคลากรประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ คือเจ้าสำนักศึกษาหรือเจ้าสำนักเรียน ผู้อำนวยการศึกษา รองประธานอำนวยการศึกษา อาจารย์ใหญ่ เลขานุการ คณะดำเนินงาน คณะครู และคณะนักเรียน การติดต่อสื่อสา รและการบังคับบัญชาปรึกษาหารือไม่มีความซับซ้อนแต่ละฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม

การบริหารการศึกษาที่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อปฏิบัติใหม่เป็นแรงผลักให้คณะทำงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นและมีผลงานเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่ายยิ่งขึ้นด้วย

อนึ่ง สืบเนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวนี้จึงได้มีการจัดสรรตำแหน่งระเบียบการปฏิบัติและอำนาจหน้าที่การปฏิบัติงานของบุคลากรขึ้น ซึ่งแสดงสายการบังคับบัญชาขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงาน ดังนี้

คณะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ คือ

  1. เจ้าสำนักเรียน เป็นผู้บริหารสูงสุดของสำนักเรียนมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการและบุคลากรภายในสำนักเรียนทั้งหมดสามารถแต่งตั้ง-ถอดถอนบุคคลใดๆ เพื่อสนับสนุนการบริหารสำนักเรียนให้มีประสิทธิภาพและออกระเบียบข้อบังคับต่างๆ
  2. ผู้อำนวยการศึกษา (ภายหลังตั้งแต่พ.ศ. 2536 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นประธานอำนวยการศึกษา) มีหน้าที่บริหารกิจการและบุคลากรภายในสำนักเรียนทั้งหมดแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าสำนักเรียนจัดหาทุนส่งเสริมสนับสนุนการบริหารสำนักเรียนกำกับดูแลการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายและอำนวยความสะดวกตามสมควรแก่อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ฐานานุรูปและกาลสมัยเพื่อให้การบริหารและการดำเนินงานของสำนักเรียนมีประสิทธิภาพ ซึ่งภายหลังเมื่อพระราชปริยัติวิมลได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าสำนักเรียนแล้ว ก็ได้ปฏิบัติงานบริหารตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าสำนักเรียนและรับผิดชอบด้านการจัดหาทุนพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ทุกฝ่ายส่วนการบริหารบุคลากรอื่นๆ ท่านได้บริหารร่วมกับครูใหญ่สำนักเรียนซึ่งได้เปลี่ยนเป็นอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนในปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาจึงนับได้ว่าได้มอบอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารส่วนหนึ่งแก่อาจารย์ใหญ่สำนักเรียนนอกจากนั้นยังได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งรองประธานอำนวยการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการศึกษาด้วย แต่ได้มีการแต่งตั้งเป็นครั้งคราว
  3. ครูใหญ่ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคลากรปฏิบัติงานและครูสอนพระปริยัติธรรมพร้อมอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก
  4. เลขานุการ-ธุรการ มีหน้าที่สนองงานบุคลากรทุกระดับในด้านเอกสารนับเป็นการกำหนดสายงานและอำนาจหน้าที่อย่างง่ายๆ อำนาจหน้าที่ขอบข่ายการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวบุคคล ถ้ามีความสามารถถนัดในด้านใดก็จะมีการอาสาและการมอบหมาย 76 ฉลองอายุวัฒนมงคล 85 ปี พระเทพปัญญามุนี (ทองดี ฐิตายุโก) หน้าที่และความรับผิดชอบในด้านนั้น จากที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวหลายกาลหลายสมัย สภาพสังคมและปัจจัยภายนอกเปลี่ยนมากขึ้นและเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อแนวทางการบริหารและเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพตามความเหมาะสมกับยุคสมัย จึงได้มีการจัดสรรตำแหน่งทั้งได้มอบอำนาจหน้าที่ให้มีความสอดคล้องกับความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้นโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนจึงได้ปรับปรุงเรื่อยมาตามลำดับจนกระทั่งปัจจุบัน จึงได้มีการจัดทำระเบียบคณะกรรมการบริหารการศึกษาขึ้น

พระเทพปัญญามุนีพิจารณาเห็นว่าที่ผ่านมาโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประธานอำนวยการศึกษาและอาจารย์ใหญ่ในการพิจารณาสนองนโยบายของเจ้าสำนักเรียนและแนวทางการบริหารสำนักเรียนเรื่อยมาแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมและไม่ปรากฏในสายงานการบังคับบัญชาและการประสานงานของโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนอำนาจหน้าที่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรจึงได้มอบหมายให้พระครูปลัดสัมพันธ์ สิริเตโช พร้อมคณะกรรมการอำนวยการศึกษาในขณะนั้น (ปัจจุบันเรียกว่ากรรมการบริหารการศึกษา) ร่วมกันพิจารณายกร่างคณะกรรมการบริหารการศึกษาเพื่อนำเสนอต่อเจ้าสำนักเรียน จึงเริ่มมีความชัดเจนและได้เพิ่มในโครงสร้างการบริหารสำนักเรียนมาโดยตลอด

ทำเนียบอาจารย์ใหญ่

  1. พระมหาตระกูล สิริวํโส ป.ธ.7 พ.ศ. 2534 – 2537
  2. พระมหาวัลลภ วลฺลโภ น.ธ.เอก, ป.ธ.5 พ.ศ. 2537
  3. พระมหาประนต กิตฺติวฑฺฒโน ป.ธ.9 พ.ศ. 2538 – 2540
  4. พระมหาสายรุ้ง อินฺทาวุโธ ป.ธ.7, ศน.บ. พ.ศ. 2541 – 2545
  5. พระมหาพิเชษฐ์วงศ์ ภทฺรปญฺโญ ป.ธ.8 พ.ศ. 2545 – 2546
  6. พระมหาครรชิต วรกวินฺโท ป.ธ.8, ศน.บ. พ.ศ. 2546 – 2548
  7. พระศรีรัชมงคลเมธี ป.ธ.9, Ph.D. พ.ศ. 2549 – 2550
  8. พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม ป.ธ.7, Ph.D. พ.ศ. 2551
  9. พระมหาสายรุ้ง อินฺทาวุโธ ป.ธ.7, Ph.D. พ.ศ. 2552 – 2554
  10. พระมหาอภิชัย อภิชโย ป.ธ.9, M.Phil. พ.ศ. 2555 – 2556
  11. พระมหาสมาน ธมฺมวชิโร ป.ธ.9 พ.ศ. 2557
  12. พระมหาอภิชัย อภิชโย ป.ธ.9, M.Phil. พ.ศ. 2558
  13. พระมหาคณาวุฒิ อคฺคปญฺโญ น.ธ.เอก, ป.ธ.6, ศน.บ. พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน