ว่าด้วยเรื่องปัญญาวุธ

พระมหาสมาน ธมฺมวชิโร ( ป.ธ.๙ )

ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ, ครูสอนประโยค ป.ธ.6

พระเดชพระคุณพระเทพปัญญามุนี เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียน วัดอาวุธวิกสิตาราม ได้ปรารภกับพระภิกษุสามเณรนักเรียนภายในวัดอาวุธวิกสิตารามอยู่เนืองๆ ว่า คำว่า “อาวุธ

ในที่นี้หมายความถึงอาวุธคือปัญญา (ตามความหมายชื่อวัด หมายถึงพระยาอาวุธภัณฑ์เผด็จ) เพื่อให้พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาศึกษาภายในวัดอาวุธ ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งแห่งปัญญามีการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาขยันศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับให้มีวิสัยทัศน์ในการทำงานต่างๆ ซึ่งเมื่อดูตามรูปศัพท์ดังกล่าวในหลักของบาลีไวยากรณ์จะเห็นได้ว่ามาจาก อวธารณบุพพบท กัมมธารยสมาส ซึ่งมีวิเคราะห์ว่า  

ปญฺญา เอว อาวุโธ = ปญฺญาวุโธ แปลว่า อาวุธคือปัญญา นั่นเอง… 

และในโอกาสวันศาสนศึกษานี้ จึงจะขอนำเรื่องปัญญามากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อให้ สอดคล้องกับหัวข้อว่าด้วยเรื่อง “ปัญญาวุธ” ดังกล่าวมา 

คำว่า ปัญญา ที่แปลว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว นี้เป็นความหมายตามตัวหนังสือเท่านั้น แท้ที่จริงปัญญานั้นเป็น  ความรู้รอบและรู้ลึก คือความรู้ 3 มิติ เป็นความรู้ที่เป็นระบบต่อเนื่องโยงใยกัน ไม่ใช่ความรู้เป็นจุดเฉพาะเรื่อง เช่น การที่นักเรียนมีความจดจำในเรื่องที่ตนเรียนเฉพาะเรื่อง  ข้อนี้ท่านเรียกว่า สัญญา แปลว่า ความจำได้หมายรู้ จำได้เป็นเรื่องๆ ไม่โยงกันเป็นระบบ ไม่เห็นเหตุไม่เห็นผล ไม่เห็นความสัมพันธ์ใดๆ เป็นความรู้เฉพาะจุด เหมือนกับคนที่ดูภาพจิ๊กซอว์ ซึ่งแยกกันเป็นส่วนๆ แต่ไม่สามารถเห็นภาพรวมว่า  เมื่อเอาชิ้นส่วนมารวมกันนั้นจะเกิดเป็นภาพอะไร 

สำหรับปัญญานั้น เป็นความรู้รอบ คือเห็นภาพรวม เช่น เมื่อเอาชิ้นนส่วนมารวมกันแล้วก็จะเห็นภาพที่ สมบูรณ์ชัดเจน นั่นคือความรู้ รอบ เป็น ความรู้รอบที่เกิดจากการโยงเอาข้อมูลต่างๆ ให้ได้ภาพที่สมบูรณ์คือรู้มากกว่าที่เห็น เข้าใจมากกว่าที่ฟังอันนี้เป็นความรู้ระดับปัญญา

ดังตัวอย่างของผู้มีปัญญาที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเสนกชาดกว่า

ในอดีตกาลมีบัณฑิตท่านหนึ่งชื่อว่าเสนกะ  เป็นผู้มีปัญญา มีความรู้รอบและรู้ลึก  ครั้งนั้นพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งมีอายุมาก แล้วได้ออกภิกขาจารคือขอทานหาเงิน

มาเลี้ยงครอบครัว และพราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีความรักในครอบครัวรักภรรยาตนมากเนื่องจากมีความขัดสนลำบาก มาด้วยกัน ฝ่ายภรรยาก็จัดหาอาหารแห้งใส่ถุงให้สามี ออกไปภิกขาจาร เพราะบางทีก็ต้องไปรอนแรมในที่ต่างๆ  หลายวันด้วยกัน 

อยู่มาวันหนึ่งพราหมณ์คนนั้นภิกขาจารได้ทรัพย์พอสมควรแล้ว จึงคิดถึงภรรยาและอยากจะกลับบ้าน และก่อนจะถึงบ้านของตนพราหมณ์คนดังกล่าวก็ได้สะพายถุงใส่อาหารแห้งซึ่งเป็นเสบียงเดินไปใต้ร่มไม้ พอถึงเวลาอาหารก็เปิดปากถุงเพื่อนำอาหารแห้งออกมา และเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็วางถุงอาหารไว้ โดยมิได้ปิดปากถุงดังกล่าว เมื่อถึงเวลาเดินทางพราหมณ์คนนั้นก็ได้คว้าถุง สะพายใส่อาหารเพื่อจะเดินทางต่อและในเวลานั้นเองมี รุกขเทวดาปรากฏตนให้เห็นและรุกขเทวดาก็เตือนว่า  พ่อพราหมณ์วันนี้พ่อพราหมณ์จะไปไหนหนอ ถ้าวันนี้ พราหมณ์พักเสียในระหว่างทางพราหมณ์เองก็จะเสียชีวิต  แต่ถ้าวันไหนพราหมณ์เดินทางกลับบ้านภรรยาของพราหมณ์เองจะเสียชีวิต ว่าแล้วรุกขเทวดาก็หายวับไปกับตา ทีนี้พราหมณ์คนนั้นพอได้ฟังดังนั้นจึงเสียใจมากเพราะความรักในตนก็มี ความรักในภรรยาก็มี ความรักทั้งสองอย่างขัดแย้งกันตัดสินใจไม่ได้จึงเสียใจร้องไห้และแทนที่พราหมณ์นั้นจะกลับบ้านของตน เขากลับบ่ายหน้าสู่กรุงพาราณสี

และในเวลานั้นเองเสนกบัณฑิตนับว่าเป็นคนมีชื่อเสียงอย่างมาก จึงทำให้ในแต่ละวันนั้นก็จะได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวธรรมกถาอยู่เป็นประจำ และในคราวนั้นเองพราหมณ์ผู้มีความเศร้าใจ มีความทุกข์ใจก็ได้เดินเข้าไปยืนอยู่ท้ายบริษัท เพื่อฟังธรรมกถาของเสนกบัณฑิต  ฝ่ายเสนกบัณฑิตเองก็ได้กล่าวธรรมกถา ได้ไพเราะเพราะพริ้งเป็นพิเศษ หมู่ชนที่ได้ฟังต่างชอบใจชื่นชมอนุโมทนาสาธุการ  ส่วนพราหมณ์คนดังกล่าวกลับยืนร้องไห้ อยู่ท้ายบริษัทเป็นที่สังเกตได้

เสนกบัณฑิตพอเห็นดังนั้น จึงมีความคิดว่า พราหมณ์ผู้นี้ฟังธรรมแล้วกลับร้องไห้ คงจะมีปัญหาอะไรเป็นแน่แท้ จึงได้ถามว่า  “ท่านพราหมณ์ ท่านมีความเศร้าใจมีความทุกข์ใจอันใดติดอยู่ในใจหรือจึงได้ร้องไห้เช่นนี้” 

ฝ่ายพราหมณ์ก็ได้เล่าเรื่องให้เสนกบัณฑิตฟังว่า “ในวันนี้เอง รุกขเทวดาได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ถ้าพักในระหว่างทางตัวข้าพเจ้าจะตาย ถ้ากลับบ้านภรรยาข้าพเจ้าจะตาย” ขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหาปริศนาข้อนี้ให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด 

ส่วนเสนกบัณฑิตพอได้ฟังดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น ก็จึงได้ซักถามความเป็นไปตั้งแต่ต้น จึงได้มีคำวินิจฉัยในใจแล้วกล่าวกับพราหมณ์ว่า  “พ่อพราหมณ์ บางทีในถุงของท่านอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปก็เป็นได้จึงทำให้รุกขเทวดากล่าวปริศนาธรรมนั้น เราเองนั้นก็มีความสงสัยว่าในขณะที่ท่านวางถุง ไว้ใต้ร่มไม้อาจจะมีงูเลื้อยเข้าไปเพราะได้กลิ่นอาหารแล้วก็ไปซุกอยู่ในถุงนั้น ถ้าวันนี้ท่านไปพักในระหว่างทางตกเย็นก็ต้องทานอาหารเอามือล้วงเข้าไปในถุง  งูพิษนั้นก็จะกัดท่านเสียชีวิต แต่ถ้าวันนี้ ท่านกลับบ้าน ภรรยารับถุงไปก็จะต้องสำรวจว่ามีอะไรเหลืออยู่ข้างในก็จะถูกงูกัดเสียชีวิต จึงน่าจะมีงูอยู่ในถุงของท่าน 

พอได้ฟังดังนั้นพราหมณ์จึงได้วางถุงลงต่อหน้าประชาชน ส่วนเสนกบัณฑิตได้สั่งให้ราชบุรุษเอาไม้เคาะถุงดู และในขณะนั้นเอง งูได้เลื้อยออกมาจากถุง ประชาชนเห็นดังนั้นต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ  ในวิจารณปัญญาของท่านเสนกบัณฑิตเป็นอย่างมาก 

 

ชาดกเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ปัญญาเป็นความรู้รอบสอบสวนทั้งระบบ  มิได้อยู่ที่คำพูดเป็นปริศนาของรุกขเทวดา แต่โยงใยที่มาที่ไปเข้าทำนองว่า ธัมมัญญุตา  รู้ จักเหตุ อัตถัญญุตา รู้จักผล เห็นเหตุแล้วคาดว่าผลอะไรจะตามมา การได้ฟังปริศนานั้น คือผลก็ดูว่าโยงมาจากเหตุไหน อย่างนี้เรียกว่าปัญญา 

พระพุทธเจ้าทรงสรุปจากชาดกเรื่องนี้ ดังพระบาลีที่ว่า ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ แปลว่า ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญานั้นประเสริฐที่สุด เหมือนดังพระจันทร์เด่นที่สุดในหมู่ดาว  

ข้อนี้พระองค์ปรารถนาที่จะชี้แจงให้เห็นว่า แม้ว่าปัญญาประเสริฐที่สุดแต่ปัญญานั้น 

ก็ต้องมีคุณธรรมอื่นประกอบเหมือนกับดาวที่จะต้องมีบริวาร

และปัญญามีคุณธรรมอื่นเป็นบริวารอย่างไร ในข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ  มหานิสสา เมื่ออบรมสมาธิดีแล้ว ปัญญาก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก นี่แสดงว่าปัญญา จะพัฒนาได้ต้องมีสมาธิประกอบ มีการเจริญสมาธิ เพราะสมาธินั้นก็คือภาวะที่จิตแน่วแน่ ทำให้เห็นความจริงชัดเจน ปัญญาจึงจะคมชัด 

เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา เหมือนกับแรงที่กดไปบนมีด มีดจะตัดเชือกได้มีดนั้นต้องคมและแรงที่กดก็ต้องแรงพอข้อนี้ฉันใด ปัญญาจะตัดกิเลสได้ ต้องมีสมาธิกำกับปัญญานั้นก็เหมือนกับคมมีด แรงที่กดคือสมาธิ เมื่อสมาธิแรง พอคมมีดซึ่งคมอยู่แล้วจึงจะตัดเชือกได้ แต่การตัดบางครั้งไม่สำเร็จเพราะว่าแม้จะมีมีดคม แต่แรงที่กดนั้นน้อยไปเบาไป เปรียบเหมือนผู้มีปัญญาดี แต่สมาธิน้อยก็ แทงตลอดปัญหาไม่ได้ฉะนั้นจึงต้องมี กำลังสมาธิที่แรงพอช่วยให้ปัญญาแก่กล้า สามารถตัดปัญหาแก้ปัญหาได้ บางครั้ง สมาธิแรงด้วยสมถะแต่ปัญญาน้อยไป ก็เหมือนมีแรงที่กดมากแต่มีดทื่อก็ตัด ปัญหาคือแก้ทุกข์ไม่ได้ 

สมาธิกับปัญญานั้นจะต้องสมดุลแลต้องพัฒนาไปด้วยกัน  แต่สมาธิไม่สามารถจะคงที่แน่วแน่ได้ถ้าไม่มีศีลกำกับ เพราะศีลคือการรักษาระบบชีวิตที่เป็นระเบียบ ถ้าชีวิตไร้ ระเบียบมัวยุ่งกับเรื่องต่างๆ มากมาย จิตใจก็วอกแวกไม่เป็นสมาธิได้

เพราะฉะนั้น สมาธิจะเกิดได้ต้องมีศีลช่วยอุปถัมภ์ ดังพุทธธรรมที่ว่า สีลปริภาวิโต  สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสโส ซึ่งแปลได้ใจความว่าเมื่ออบรมศีลแล้ว สมาธิก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก 

สมาธิปริภาวิตา  ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสสา  เมื่ออบรมสมาธิแล้ว ปัญญาก็มีผลมาก  มีอานิสงส์มาก 

รวมความว่า ศีล สมาธิ  ปัญญา ก็คือไตรสิกขาที่ต้องไปด้วยกัน

แม้ว่าปัญญาจะเด่นกว่าศีลและสมาธิ ดังพระบาลีข้างต้น แต่ศีลคือระเบียบจะช่วยเกื้อหนุนสมาธิ สมาธิก็จะช่วยเกื้อหนุนปัญญา ฉะนั้น ไตรสิกขาจึงไปด้วยกัน 

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาที่เป็นระบบครบวงจรในพระพุทธศาสนา เรียกว่าไตรสิกขา  แต่กระนั้นพระพุทธเจ้าก็ยกปัญญาว่าเป็นคุณธรรมสำคัญ มีศีลสมาธิเป็นต้นเป็นบริวาร  เพราะฉะนั้น บางคนเน้นแต่ปัญญาไม่ได้เพิ่มคุณธรรมอื่นๆ ก็ทำให้ปัญญาที่มากไปนั้น ขาดศรัทธา คนที่มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อยก็จะหนักไปในทางสงสัยเรื่อยไป  

ฉะนั้นจึงขาดในส่วนการรักษาศีลและเจริญสมาธิภาวนาอันเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญไป 

คนที่มีศรัทธามากแต่ขาดปัญญาเกื้อหนุนก็จะงมงายตกไปในข้างไสยศาสตร์ ศรัทธากับปัญญาจึงต้องปรับให้สมดุลกัน แม้ศรัทธาเองก็เป็นบริวารของปัญญาเช่นเดียวกัน  ในระบบการศึกษานั้น ปัญญาแม้จะเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องมีคุณธรรมอื่นๆ มาประกอบด้วย 

ดังที่สมัยนี้เริ่มตื่นตัวกันว่า ไอคิว หรือปัญญาอย่างเดียวไม่พอต้องมีอีคิว  คือการควบคุมอารมณ์ให้มีเหตุผล หรือมีปัญญากำกับด้วย ในทำนองเดียวกัน ปัญญาที่พาให้เกิดคุณธรรมอื่นๆ ก็เหมือนดังเช่นพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากการตรัสรู้ นั้น ทำให้เกิดพระวิสุทธิคุณและพระปัญญาคุณนั้นเองทำให้ เห็นแจ้งแทงตลอด  เป็นยถาภูตญาณทัสนะ รู้เห็นตามความเป็นจริงคือรู้ แล้วละรู้ แล้ววาง รับกิเลสได้ ดังคำกล่าวที่ว่า ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย เป็นต้น 

ดังนั้น ในวันศาสนศึกษานี้จึงได้นำเรื่องของปัญญาในอีกแง่มุมหนึ่งมากล่าวไว้  ณ ที่นี้ เพื่อให้ สอดคล้องกับคำว่า “ปัญญาวุธ” ซึ่งเป็นคำที่พระเดชพระคุณ  พระเทพปัญญามุนี เจ้าอาวาส/เจ้าสำนักเรียน ได้ยกมากล่าวในเชิงเป็นอุบายธรรม เพื่อให้พระภิกษุสามเณรผู้เข้ามาศึกษาในสำนักเรียนเกิดความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ประกอบด้วยสติปัญญาฉะนั้น