ชีวิตที่มีความสุขและคุณค่า ตามหลักพระพุทธศาสนา

พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทนำ 

การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก ชีวิตเมื่อพูดถึงเรื่องชีวิตย่อมนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่จะละเลยไม่ใส่ใจไม่ได้ เพราะชีวิตไม่ใช่เรื่องเล่นและชีวิตเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะได้มาโดยง่าย  

กล่าวคือเกี่ยวกับชีวิตนี้ เป็นเรื่องหนึ่งในสี่เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าเป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า  

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ  กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโทติ. 

(มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2432) 

แปลว่า  

ของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นการยาก การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก  

(มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2432)

 เรื่องชีวิตจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจตรงที่การได้มาก็ยาก  การเป็นอยู่ก็ยาก ตลอดถึงการที่ชีวิตจะได้ เจอสัจธรรมและเจอพระพุทธศาสนาก็ยาก เหมือนกัน ดังนั้น ชีวิตจึงเป็นเรื่องยาก ดังกล่าวมา ยิ่งการจะทำชีวิตให้มีความสุข และมีคุณค่าด้วยแล้ว ยิ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นที่สุด ด้วยชีวิตที่ดำเนินไปอยู่

หากไม่มีความสุขย่อมเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น โดยจะเป็นความสุขทางกายหรือความสุขทางใจก็ได้ 

ที่กล่าวเช่นนี้ จะเห็นได้จากที่ทางพระพุทธศาสนาสอนว่าชีวิตที่ดีควรเป็นชีวิตที่มีความสุขในโลกนี้  โลกหน้า และความสุขขั้นสูงสุดด้วย จึงจะนับว่าเป็นชีวิตที่สุดยอด 

ความสุขจึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการมีชีวิตอยู่ และโจทย์ที่ใหญ่กว่าชีวิตที่มีความสุขคือการมีชีวิตอยู่อย่าง มีคุณค่า ด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่านั้นจัดว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างสูงสุด 

ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากชีวิตของพระศาสดาในศาสนาทั้งหลายที่เป็นต้นแบบแห่ง ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้  “ชีวิตที่พร้อมจะทำอะไรเพื่อใครๆ ได้เสมอนั้น  อาจจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่ามากที่สุดก็ได้”

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งเมื่อจะได้ กล่าวถึงชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะเกี่ยวกับเรื่องชีวิตนี้อะไรๆ ก็นับว่าสำคัญหมด  หมายความว่าทุกเรื่องในชีวิตนี้จัดว่ามีความสำคัญเสมอ ไม่มีอะไรจะที่มองว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับชีวิต กล่าวคือ ชีวิตในปฐมวัยหรือวัยเด็กก็มีความสำคัญพอๆ กับชีวิตในช่วงปัจฉิมวัย 

ฉะนั้น ชีวิตที่มีความสุขกับมีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนาจึงจัดเข้าในประเด็นที่น่าสนใจศึกษาหาคำตอบเป็นที่สุด เพราะหากตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แล้ว  หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตอาจจะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยไปเลย คือหากตอบคาถาม เรื่องเช่นนี้ในชีวิตได้ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินที่มีหรือ  เรื่องสิ่งของและตำแหน่งที่อยากได้  อาจจะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยหรือไร้ค่าหมดราคาไปเลยก็ได้ เพราะความสุขของชีวิต อาจไม่สัมพันธ์กับหลายสิ่งหลายอย่างที่  หลายคนเชื่อว่าจะนาความสุขมาให้ได้ก็ได้

หรือแม้แต่เรื่องชีวิตที่มีคุณค่านั้นอาจไม่ได้เป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นชีวิตที่หรูหราราคาแพงก็ได้ คืออาจเป็นแค่ชีวิตที่พึ่งตนเองได้และเป็นชีวิตที่ไม่ทำตนเองให้เป็นภาระของสังคมหรือเป็นภาระของใครก็ได้ เรียกได้ว่าชีวิตที่พร้อม จะทำอะไรเพื่อใครๆ ได้เสมอนั้นอาจจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มากที่สุดก็ได้ ดังจะเห็นได้จากชีวิตของพ่อแม่ที่เป็นชีวิตที่มีคุณค่ามากที่สุดต่อลูกทั้งหลาย 

2. ชีวิตที่มีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา 

หากถามว่าชีวิตที่มีความสุขนั้นเป็นชีวิตเช่นไร  ย่อมนับว่าเป็นคาถามที่หาคำตอบได้ยากมาก เพราะปริมาณความต้องการความสุขของทุกคนนั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด เรียกว่าชีวิตนี้อยากจะมีความสุขกันให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ดังนั้น ทุกคนจึงดิ้นรนแสวงหาความสุขมาเพื่อตนเองให้ได้ กล่าวคือขอให้มีความสุขแล้ว ทุกคนก็พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา 

แต่ในความเป็นจริง  ชีวิตนี้หาได้มีความสุขทุกอย่างตามที่ปรารถนาไม่ ดังนั้น  ชีวิตที่มีความสุขจึงยังคงเป็นปริศนาให้ทุกคนได้แสวงหา คำตอบกันเรื่อยมา 

ส่วนชีวิตที่มีความสุขตามหลักคำสอน แห่งพระพุทธศาสนานี้มีอยู่หลายประเด็น แต่เมื่อพิจารณา ศึกษาอย่างรอบคอบแล้ว ก็พบว่าหลักคำสอนของพระพุทธองค์นั้นมีความเป็นเอกภาพเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่  หลักคำสอนของพระองค์นั้นมีความเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างดี ดังที่ท่านเปรียบคำสอนของพระพุทธองค์ว่า  มีความงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด 

(อาทิมชฺฌปริโยสานกลฺยาณธมฺโม) 

สรุปแล้ว  ในที่นี้ ผู้เขียนขอนาเสนอเรื่องชีวิตที่มีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนาผ่านหลักคำสอนเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ได้แก่ หลักแห่งการทำความดี (ที.ปา. 11/228/230)  หมายความว่าชีวิตที่มีสุขนั้นคือชีวิตที่ตั้งอยู่ในการกระทำ 3 ลักษณะดังต่อไปนี้ 

1) มีการเสียสละแบ่งปัน (ทานมัย) 

อธิบายได้ว่าชีวิตที่มีการรู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน ให้กับผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ละโมบโลภมาก  เมื่อมีวัตถุสิ่งของในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้วก็พยายามบริหารจัดการ หรือมอบให้ผู้อื่นที่ยังขาด ไม่ใช่ตักตวงเอาเข้าหาตนเองให้มากที่สุด โดยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การมีพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมทำให้สังคมโดยรวมเกิดความวุ่นวายและเดือดร้อน เพราะทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด แต่การอยากได้นั้นมีอยู่อย่างไม่จากัด จึงเป็นการสมควรที่ผู้ต้องการความสุขในชีวิตต้องรู้จักเสียสละ แบ่งปันวัตถุสิ่งของหรือการให้โอกาสในชีวิตแก่ผู้อื่น 

ด้วยว่าการเสียสละแบ่งปันนี้ จะช่วยทำให้ชีวิตเย็นลง ไม่เป็นทุกข์ร้อน เพราะความอยากได้ ความอยากมี และความอยากเป็นตรงกันข้ามการไม่รู้จักเสียสละแบ่งปันย่อมเป็นสาเหตุแห่งการทำลายจิตวิญญาณที่ดีงามที่มีอยู่ในตน และเป็นการทิ้งคุณงามความดีในตนเพียงเพื่อให้ได้สิ่งของหรือตำแหน่งที่อยากจะได้  

ดังนั้น ชีวิตที่มีความสุขประการที่หนึ่งจึงเป็นการมองไปที่การดำเนินชีวิตอย่างผู้มีจิตใจเผื่อแผ่วัตถุสิ่งของภายนอกให้แก่ผู้อื่น และควบคุมความอยากภายในจิตใจให้อยู่ในสภาวะที่สมดุลกับชีวิต ไม่ให้ความอยากกลายเป็นเชื้อโรคร้ายทำลายจิตใจที่บริสุทธิ์หมดจดให้หม่นหมองไป 

การเสียสละแบ่งปันย่อมทำให้ผู้ให้รู้สึกเบาสบาย เพราะไม่ถูกทับถมด้วยความรู้สึกอิจฉาริษยาต่อการมีการได้ และการเป็นของผู้อื่นที่อยู่รอบข้างตน เรียกว่าหากไม่มีความเสียสละแบ่งปันแล้ว ไม่มีทางที่จิตมุทิตาจะเกิดขึ้นในตนได้อย่างยั่งยืน 

สรุปแล้ว ความสุขในชีวิตสามารถหาได้อย่างง่ายๆ ด้วยการลดความอยากในตนเอง  แล้วเพิ่มพฤติกรรมการให้ต่อผู้อื่นเท่าที่จะไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน 

2) ตรงไปตรงมาได้ (สีลมัย) 

อธิบายได้ว่าเมื่อชีวิตมีความสุขจากการได้เสียสละ แบ่งปันสิ่งของหรือการให้โอกาสแก่ผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว ประการต่อมาคือการ ประพฤติปฏิบัติตนอย่างสุจริตหรือมีความประพฤติตรงไปตรงมา กล่าวคือการใช้ชีวิตในสังคมนั้นย่อมมีโอกาสที่จะปะทะสังสรรค์กับกิเลสหรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ ยิ่งถ้ามีตำแหน่งสูงๆ หรือมีภาวะที่สามารถให้คุณและโทษกับใครๆ ก็ได้ ย่อมอาจจะที่ถูกล่อลวงด้วยกิเลส ภายในจิตใจและถูกหลอกล่อด้วยวัตถุสิ่งของได้ แต่ถ้ามีความตรงไปตรงมาหรือมีศีล  ย่อมถือว่ามีกำแพงกั้นสิ่งไม่ดีเหล่านั้นไว้ได้ เพราะศีลหรือพฤติกรรมการตรงไปตรงมานั้น จะช่วยทำให้เป็นผู้มีความกล้าหาญ องอาจ สง่าผ่าเผย ไม่สะทกสะท้าน เชื่อมั่นในตนเอง  ไม่เกรงกลัวต่อภยันอันตรายต่างๆ เพราะตนเองมีพฤติกรรมทางกาย วาจา และจิตใจที่สุจริตนั่นเอง 

ดังนั้น การมีความสุขในชีวิตจึงเกิดขึ้นได้ หากได้มีการดำเนินชีวิตอย่างสุจริต  ไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายใคร ไม่โกหกหลอกลวง พูดจริงทำจริง พูดคำไหนเป็นคำนั้น  ไม่ใช่ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังทำอย่าง ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่ตรงไปตรงมา 

สรุปแล้ว  การตรงไปตรงมาช่วยทำให้เกิดความสุขในชีวิตได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นชีวิตที่หมดจด  บริสทุธิ์ไม่มีมลทินมัวหมอง เป็นผู้มีกาย วาจา และจิตใจเป็นปกติสขุ คือไม่ใช้กาย วาจา และจิตใจทำร้ายใครๆ หรือแม้กระทั่งไม่ทำร้ายตนเองด้วย เรียกว่าเป็นผู้มีศีล

3 ) ผ่อนสั้นผ่อนยาวเป็น (ภาวนามัย) 

อธิบายได้ว่าความสุขในชีวิต ประการสุดท้ายคือการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและมีปัญญา เพราะตามปกติแล้ว  ชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนรวยหรือคนจน  ล้วนต้องประสบพบเจอกับปัญหาหรือ อุปสรรคไม่มากก็น้อย แต่ถ้ามีการรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว คือ มีการใช้ภาวนาเป็นเครื่องมือย่อมสามารถที่จะผ่านพ้นไปได้  

อนึ่ง การพูดถึงเรื่องภาวนานี้ต้องไม่ใช่เป็นการตีความอย่างแคบเพียงแค่การหายใจเข้าและหายใจออกเท่านั้น แต่เป็นการพูดถึงภาวนาในฐานะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือ ในการดำเนินชีวิตแต่ละวันให้อยู่อย่างรู้เท่าทัน กล่าวคือเมื่อชีวิตประสบกับโลกธรรมทั้งแปด ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ  มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข  และมีทุกข์ ปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับชีวิตได้ตลอดเวลา ไม่เลือกช่วงวัยหรือ ขณะเวลา วันนี้หรือขณะนี้หากมีลาภเกิดขึ้น วันพรุ่งนี้หรือชั่วโมงต่อไปลาภที่มีก็อาจหายไปได้ 

ดังนั้น เมื่อชีวิตประสบ กับโลกธรรมเหล่านี้อยู่อย่างไม่เลือกขณะเวลา ภาวนาจึงเป็นองค์ธรรมที่ผู้ ดำเนินชีวิตควรได้นำมาประกอบใช้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยว่าภาวนานี้จะช่วยทำให้ใจ ไม่ฟูขึ้นเมื่อได้ดังใจหวังและใจไม่แฟบลง เมื่อไม่ได้ตามที่หวัง เป็นการอยู่อย่างปกติสุข สามารถรับมือได้ ทั้งชีวิตในเชิงบวกและเชิงลบ กล้าเผชิญกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่หลีกหนี ไม่เบื่อหน่าย  รู้ และเข้าใจต่อความเป็นไปของสรรพสิ่งในโลก สรุปแล้ว ภาวนาช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขได้ เพราะไม่ทำชีวิตให้หลงยึดติด หรือยึดมั่นในสิ่งที่เกิด ทำให้เข้าใจหรือรู้จักความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นใน ชีวิตว่าตั้งอยู่ในสภาพไม่เที่ยง (อนิจจตา)  เป็นทุกข์ (ทุกขตา) และเป็นสภาพไม่ใช่ตัวตน (อนัตตตา) (ส .สฬ. 18/1/1) ต่อเมื่อ เข้าใจชีวิตอย่างนี้แล้ว ความสุขย่อมก่อเกิด ได้ทุกขณะเวลา 

 “ ความสุขในชีวิต หาได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการลดความอยากในตนเอง แล้วเพิ่มพฤติกรรมการให้ต่อผู้อื่น เท่าที่จะไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน”

3. ชีวิตที่มีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนา 

จากที่กล่าวถึงชีวิตที่มีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนาผ่านหลักคำสอนเรื่อง  บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการข้างต้นดังกล่าว ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะการดารงชีวิตต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ในการประคับประคอง หากดำเนินชีวิต ล้มเหลวหรือผิดพลาด หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตย่อมอาจไม่ได้เป็นดังหวัง กล่าวคือ จากที่คาดหวังว่าความสุขจะเกิดขึ้นในชีวิตก็จะกลับกลายเป็นความทุกข์เกิดขึ้นมาในชีวิตแทน ตรงกันข้าม หากดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ผลีผลาม ประกอบด้วยทาน ศีล และภาวนาดังกล่าว ความเจริญรุ่งเรืองย่อมเกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่ขาดสาย จนในที่สุด ชีวิตที่เกิดมาแล้วย่อมมีคุณค่า เป็นชีวิตที่ไม่สร้างความเดือดร้อน หรือภาระให้ใคร

ดังนั้น ชีวิตที่มีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือชีวิตที่ประกอบด้วย อัตถะ ได้แก่ ประโยชน์ 3 ประการ (ขุ.จู. 30/673/333) ดังต่อไปนี้

1) ประโยชน์ตนเองก็ได้ (อัตตัตถะ) 

อธิบายได้ว่า การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ประการแรก คือการบำเพ็ญหรือการกระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เรียกว่าเกิดมาแล้วอย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำให้ประโยชน์ของตนเองไม่เสียหาย สามารถดูแลชีวิตตนเองได้ ไม่ทำชีวิตตนเองให้เป็นภาระของใครหรือสังคม เปรียบได้กับการรู้จักหน้าที่ของตนเองในแต่ละช่วงวัย กล่าวคือในช่วงปฐมวัยต้องรู้จักแสวงหาความรู้ใส่ตนเอง เพื่อจักได้สามารถนาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไปประกอบสัมมาชีพ ต่อมาเมื่อถึงมัชฌิมวัย ก็ต้องรู้จักทำมาหากินจนสามารถดำรงตนได้อย่างปกติสุขและดำรงตนเองให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เรียกว่าเมื่อตนเองมีความรู้จนสามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้แล้ว 

ลำดับต่อมาก็ต้องรู้จักช่วยเหลือคนอื่นหรือสังคมด้วย ไม่ใช่ว่า ตนเองอยู่สุขสบายแล้ว คนอื่นหรือสังคมจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ พฤติกรรมเช่นนี้ จัดได้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัว และเชื่อได้เลย ว่าคนที่เห็นแก่ตัวเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่รักหรือไว้วางใจของใครทั้งสิ้น 

ต่อมาเมื่อถึงปัจฉิมวัยก็ต้องรู้จักดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับสุขภาพกายและใจ ด้วยวัยนี้ไม่ใช่เป็นวัยที่จะต้องมาแบกรับภาระรับผิดชอบอย่างมาก และวัยนี้เป็นระยะสุดท้ายของชีวิต  จึงควรดำเนินชีวิตให้มีความปกติสุขอย่างเหมาะสมกับวัย 

ดังนั้น ชีวิตที่มีคุณค่านั้น ต้องเป็นชีวิตที่สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองในเบื้องต้น  โดยสามารถดำรงหรือเป็นที่พึ่งของตนได้ด้วยตนเอง 

สรุปแล้ว ชีวิตที่ดูแลรักษาและปกป้องประโยชน์ที่เหมาะสมกับตนเองไว้ได้ จัดว่าเป็นชีวิตที่มีคุณค่าในระดับต้น  เป็นชีวิตที่พร้อมจะอุ้มชูคนอื่นและสังคม โดยรวมเป็นลำดับถัดไป กล่าวคือเมื่อคนอื่นหรือสังคมร้องขอความช่วยเหลือ  ตนเองย่อมสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ได้อย่างปกติสุข 

2) ประโยชน์คนอื่นก็มี (ปรัตถะ) 

อธิบายได้ว่าชีวิตที่มีคุณค่าประการต่อมาคือ การทำตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นในสังคมที่อยู่อาศัย กล่าวคือคุณค่าของตนเอง ในข้อนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ประคับประคองชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้วรู้จักช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งของที่มีแก่ผู้อื่น ไม่ใช่เป็นคนในลักษณะที่ว่าขอให้ตนเองรอดเป็นพอ คนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ หากเป็นเช่นนี้ สังคมโดยรวมก็จะเป็นสังคมที่ล้มเหลว เพราะในสังคจะเต็มไปด้วยคนที่แสวงหาประโยชน์จากสังคมเข้าตน ทำนองเดียวกันกับคำกล่าว ที่ว่ามือใครยาว สาวได้สาวเอา 

ดังนั้น ในที่นี้จึงกล่าวได้ว่าชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมนั้นต้องเป็นชีวิตที่ไม่มองคนอื่นหรือสังคมเป็นแค่เครื่องมือทำมาหากินของตนเองเท่านั้น เป็นการมองคนอื่นในสังคมอย่างญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่จะต้องลงมือช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งกัน ดูแลกันและกัน  

สรุปแล้ว ชีวิตที่มีคุณค่าประการที่สองนี้  คือการทำให้ตนเองมี ประโยชน์ หรือมีคุณค่าต่อคนอื่นในสังคม เป็นการลดความเห็นแก่ตัวในตน และเป็นการมองคนอื่นอย่างเพื่อนร่วมโลก ทุกคนในสังคมล้วนเป็นพี่น้องกันและต่างปรารถนาสุขและ ไม่อยากมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ตนเองรักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น การมองหรือเข้าใจชีวิตเช่นนี้ย่อมทำให้ชีวิตตนเอง มีคุณค่าต่อคนอื่นในสังคม 

3) ประโยชน์สังคมก็ปรากฏ (อุภยัตถะ) 

อธิบายได้ว่าชีวิตที่มีคุณค่า ประการสุดท้ายคือชีวิตที่มองเห็นหรือเข้าใจสังคมแบบองค์รวม เป็นชีวิตที่ทำประโยชน์ต่อตนได้สมบูรณ์แล้วและเป็นชีวิตที่ไม่ละทิ้งคนอื่นที่อยู่ในสังคมด้วยกัน  เป็นชีวิตที่ยินยอมเสียสละประโยชน์ตนเองและคนอื่น หากต้องเป็นเงื่อนไขทำให้ สังคมโดยรวมได้ประโยชน์ 

ดังนั้น ชีวิตที่มีคุณค่าประการสุดท้ายนี้จึงเทียบได้ กับการดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์ ใน พระพุทธศาสนา และก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเป็นพระโพธิสัตว์นั้นทำได้ยากยิ่ง  เพราะต้องถูกท้าทายด้วยปัญหาหรือความ ทุกข์นานัปการ แต่ด้วยอุดมการณ์อันสูงส่งของพระโพธิสัตว์เพื่อจักได้เป็นพระพุทธเจ้ามาช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ มีความสุขกันถ้วนหน้าในอนาคต จึงได้ยอม ทำตนให้ลาบากเพื่อให้คนอื่นได้สุขสบาย  

การทำให้ตนเองมีประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อคนอื่นในสังคม เป็นการลดความเห็นแก่ตัวในตน และเป็นการมองคนอื่นอย่างเพื่อนร่วมโลก ทุกคนในสังคมล้วนเป็นพี่น้องกัน และต่างปรารถนาสุขและไม่อยากมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น 

อีกนัยหนึ่ง ชีวิตที่มีคุณค่าลักษณะเช่นนี้ สามารถเห็นได้ จากพระราชจริยวัตรใน หลวงรัชกาลที่ 9 ของชาวไทย พระองค์ เสด็จฯ ไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าดินแดนแห่งนั้น จะทุรกันดารเพียงใดเพียงเพื่อให้ประชาชนของพระองค์หายจากความ ทุกข์ยากลาบาก แม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าขนาดใด ก็ไม่ทรงย่อท้อพระราชหฤทัยและไม่ทรงย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคและความเหนื่อยยากลำบากดังพระบรมราโชวา

ทระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 27  ตุลาคม 2616 ว่า

“การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือ ความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางที เหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้ เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ  เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปี หรือสามปี ข้างหน้า” 

สรุปแล้ว  ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่อยู่เพื่อทุกคน  เป็นชีวิตที่ทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมโดยรวมหายจากความทุกข์ยากลำบาก  เป็นชีวิตที่ข้ามพ้นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของพรรคพวก และที่สำคัญคือเป็นบางชีวิตที่เข้าใจทุกชีวิต

4. วิเคราะห์และสรุป 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ทำให้ เข้าใจได้ว่า ชีวิตนี้สามารถบริหารจัดการให้มีความสุขหรือมีความทุกข์ได้ หรือสามารถ ทำให้ ชีวิตมีคุณค่าหรือไร้คุณค่าก็ได้  

สำหรับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่าชีวิตนั้นเป็น สิ่งที่ได้มาโดยยาก การประคับประคองชีวิตให้อยู่อย่างปลอดภัยก็ยาก การทำให้ชีวิตได้ประสบพบเจอกับสัจธรรมและพระพุทธศาสนาก็ยากเหมือนกัน 

เรื่องชีวิตนี้จึงมีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถตอบได้ด้วยแนวคิดและทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ ชีวิตจึงเป็นความสวยงามบนพื นฐานของการมองด้วยสัมมาทิฏฐิ  

ดังนั้น ชีวิตที่มีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา จึงหมายความถึงชีวิตที่รู้จักการให้หรือเสียสละแบ่งปัน (ทานมัย) ไม่ละโมบโลภมากและเห็นแก่ตัว มีความหมดจดบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอรัปชั่น (สีลมัย) ตลอดถึงเป็นชีวิตที่มีความสุขเพราะรู้ จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เคร่งเครียดเกินไปและไม่หย่อนยานเกินไป ดำเนินชีวิตอยู่ในทางสายกลาง (ภาวนามัย) 

ส่วนชีวิตที่มีคุณค่านั้นต้องเป็นชีวิตที่สำเร็จประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่น และประโยชน์สังคม กล่าวคือประโยชน์ตนเองก็ได้ ประโยชน์คนอื่นก็ไม่เสีย และประโยชน์สังคมก็ไม่ละทิ้ง 

สรุปว่าชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนานั้นคือชีวิตที่ดำเนินไปด้วยศีลธรรมและคุณงามความดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

ตารางแสดงแนวคิดเรื่องชีวิตที่มีความสุขและคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนา

ชีวิตที่มีความสุข ตามหลักพระพุทธศาสนาชีวิตที่มีคุณค่า ตามหลักพระพุทธศาสนา
มีการเสียสละแบ่งปัน (ทานมัย)
ตรงไปตรงมาได้ (สีลมัย) 
ผ่อนสั้นผ่อนยาวเป็น (ภาวนามัย)
ประโยชน์ตนเองก็ได้ (อัตตัตถะ)
ประโยชน์คนอื่นก็มี (ปรัตถะ)
ประโยชน์สังคมก็ปรากฏ (อุภยัตถะ)

บรรณานุกรม 

  • มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2552). พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ ชุด 45 เล่ม. กรุงเทพฯ :  โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.  
  • พระธรรมปิ ฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2543). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 
  • มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2532). ธมฺมปทฏฺฐกถา (ฉฏฺโฐ ภาโค). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย.  
  • มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2532). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 6. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย.  
  • วศิน อินทสระ. (2528) . มนุษย์และแนวทางพัฒนาทรั พยากรมนุ ษย์ ตาม หลักทางพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์. 
  • วศิน อินทสระ. (2529). พุทธจริยศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เจริญกิจ.  
  • สมภาร พรมทา. (2548). พุทธปรัชญา มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม. กรุงเทพฯ :  พิมพ์ลักษณ์. 
  • http://84000.org/tipitaka/dic/index_dd.php. (เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561). 
  • http://www.learntripitaka.com/Tripitaka-Pali2.html. (เข้าถึงข้ อมูลเมื่ อวันที่ 5 เมษายน  2561). 
  • http://www.fact.or.th/king/10steps. (เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561).