การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความรุนแรงในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ ด้วยหลักปรัชญาและศาสนา

ผู้แต่ง

  • ศิริเพ็ญ ชัยสนิท นักวิชาการอิสระ ด้านพุทธศาสนาและปรัชญา

คำสำคัญ:

ความรุนแรง, ภาพยนตร์, หลักปรัชญาและศาสนา

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาความรุนแรงในภาพยนตร์ 2. เพื่อศึกษาความรุนแรงในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ 3. เพื่อวิเคราะห์ความรุนแรงในภาพยนตร์ของ เควนติน ทาแรนติโน่ ด้วยหลักปรัชญาและศาสนา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการวิจัยเชิงเอกสาร ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก ตำราทางวิชาการ งานวิจัยและสารนิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการศึกษาเชิงวิเคราะห์ความรุนแรงในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ ด้วยหลักปรัชญาและศาสนา
ผลการวิจัย พบว่า ความรุนแรงในภาพยนตร์ พบว่า ความรุนแรงเป็นประเด็นที่ได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่องในภาพยนตร์ เนื้อหาความรุนแรงในภาพยนตร์ถูกนำเสนอไปในประเด็นที่หลากหลาย ทั้งความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งความรุนแรงทางกายภาพนั้นเป็นที่คุ้นชินมากที่สุดในภาพยนตร์ มีความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความรุนแรงในพุทธปรัชญาเถรวาทว่าความรุนแรงนั้น คือการก่อความชั่วอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นทางแห่งบาปหรืออกุศลที่เราไม่ควรก้าวล่วง เรียกว่าอกุศลกรรมบถ 10 แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ กายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3
ความรุนแรงในภาพยนตร์ของ เควนติน ทาแรนติโน่ พบว่า ภาพยนตร์แต่ละเรื่องของ เควนติน ทาแรนติโน่ มีแก่นความคิด ในการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงเป็นหลักสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับหลักปรัชญา ความเสมือนจริงและสภาวะล้ำจริง ตามแนวคิดของ ฌอง โบดริยาร์ด และเชื่อมโยงกับหลักศาสนา คือ แนวคิดจากคริสต์ศาสนา เรื่องกิเลสและตัณหาของมนุษย์ และเรื่องทาสและการปลดปล่อย ส่วนแนวคิดจากพุทธศาสนาปรัชญาเถรวาท สอดคล้องกับเรื่องจริต 6 ว่าตัวละครเอกที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์นั้นมีลักษณะ ชัดเจนว่าเป็นผู้มีจริตแบบโทสจริต และโมหจริต
วิเคราะห์ความรุนแรงในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ ด้วยหลักปรัชญาและศาสนา พบว่า ความรุนแรงในภาพยนตร์ของเควนติน ทาแรนติโน่ เมื่อพิจารณาตามหลักอกุศลกรรมบถ 10 นั้น ได้สะท้อนให้เห็นภาพของความรุนแรงได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร (มโนกรรม) สะท้อนให้เห็นว่าตัวละครส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจความพยาบาทและมีมิจฉาทิฏฐิ ไม่สามารถประคองชีวิตให้ดำเนินไปอย่างถูกทำนองคลองธรรมได้ จึงเลือกแสดงออกถึงความรุนแรงนั้นออกมาทางกายกรรมและวจีกรรม การใช้ความรุนแรงในเชิงกายกรรมพบว่า ตัวละครมักใช้การฆ่าและทำร้ายกัน (ปาณาติปาต) มาเป็นเครื่องมือในการระบายความโกรธเกลียดและแก้แค้น ในเชิงวจีกรรม พบว่ามีการใช้ การโกหก (มุสาวาท) การพูดส่อเสียด (ปิสุณวาจา) และการพูดคำหยาบ (ผรุสวาท) มาทำร้ายตัวละครฝั่งตรงข้าม และความรุนแรงประเภทนี้มักเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงในเชิงกายกรรมตามมา

References

มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2543). พระไตรปิฎก อรรถกถา ชุด 91 เล่มที่ 17, 33, 34, 38. พิมพ์ครั้งที่ 4.

นครปฐม.

กฤษดา เกิดดี. (2548). เอกสารการสอนชุดวิชาทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2549). อาวุธมีชีวิต? แนวคิดเชิงวิพากย์ว่าด้วยความรุนแรง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.

เดโชพล เหมนาลัย. ความรุนแรง: มุมมองจากพระพุทธศาสนา. วารสารศิลปศาสตร์, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2.

ประพนธ์ ตติยวรกุลวงศ์. (2553). การเล่าเรื่องและทัศนคติของผู้ชมเกี่ยวกับความรุนแรงในภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2545). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ. สหธรรมิก

พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวัณโณ). (2551). กฎแห่งกรรม เลือกเกิดได้ถ้าตายเป็น. พิมพิ์ครั้งที่ 11.กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาณ

จันทนี เจริญศรี. (2545). โพสต์โมเดิร์นกับสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์วิภาษา.

สุพมิตรา วรพงศ์พิเชษฐ. (2554) การสร้างสุนทรียภาพแห่งความรุนแรงในภาพยนตร์ของมิชาเอลฮาเนเคอ. วิทยานิพนธ์ นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย.

เสรี พงศ์พิศ. (2539). ศาสนาคริสต์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เอดิสัน.

อนุช อาภาภิรมย์. (2543). ฉากความรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. สถาบันวิถีทรรศน์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-20